รีโนเวทบ้านไม้ 5 จุดที่ต้องตรวจเช็กให้ชัวร์ก่อนลงมือ

การรีโนเวทบ้านไม้ เป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านหรือคนที่กำลังวางแผนจะสร้างบ้านไม้ต้องศึกษาไว้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป บ้านไม้ที่สวยงาม ก็ย่อมต้องมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ซึ่งจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา มาดูข้อดี-ข้อด้อย รวมทั้งการรีโนเวทบ้านไม้ จุดไหนที่มักเกิดปัญหา ต้องมีการซ่อมแซม เพื่อให้บ้านไม้สวยงาม คงทน แข็งแรง เหมือนใหม่อยู่เสมอ

การรีโนเวทบ้านไม้

ข้อดีของบ้านไม้

“ไม้” เป็นวัสดุหลักที่นิยมนำมาใช้สร้างบ้านในอดีต เพราะสามารถหาได้ง่ายตามธรรมชาติ แต่นอกเหนือจากไม้แล้ว ในปัจจุบันมีการใช้วัสดุอื่น ๆ มาในการสร้างบ้าน นอกจากบ้านไม้ ยังมีบ้านดิน บ้านอิฐ และบ้านปูน ซึ่งเรียกตามวัสดุหลักที่นำมาใช้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้บ้านไม้ลดความนิยมลง ด้วยข้อดีต่าง ๆ เหล่านี้

1. สวยงาม

บ้านไม้มีความสวยงาม คลาสสิก ร่วมสมัย ไม่ตกยุค ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีการสร้างบ้านไม้ให้เห็นกันอยู่

2. แข็งแรง ทนทาน

ด้วยความที่ไม้มีความยืดหยุ่น เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว บ้านไม้จึงมีความแข็งแรง ทนทาน เกิดรอยร้าวได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับบ้านที่สร้างด้วยวัสดุอื่น ๆ

3. ถ่ายเทอากาศได้ดี

บ้านไม้จะอากาศถ่ายเทได้สะดวก เนื่องจากบ้านไม้จะมีช่องว่างตามรอยต่อของไม้ ผนังไม่ได้ทึบจนไม่มีช่องว่างให้อากาศถ่ายเท ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่รู้สึกอบอ้าวเวลาอยู่ภายในบ้าน ช่วยประหยัดพลังงาน ไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา

4. ปรับแต่ง ต่อเติมได้

ด้วยความที่ไม้เป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง หากต้องการปรับแต่ง ต่อเติม หรือรีโนเวทบ้านไม้ ก็สามารถทำได้ง่าย อีกทั้งยังผสมผสานเข้ากับวัสดุอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว ที่พบเห็นบ่อย ๆ คือ การนำไม้มาผสมกับปูน (บ้านไม้กึ่งปูน) หรือบ้านไม้โครงสร้างเหล็ก

5. รื้อถอน เคลื่อนย้ายสะดวก

ถ้าหากต้องการจะโยกย้าย ก็สามารถรื้อถอนบ้านไม้ และเคลื่อนย้ายไปสร้างบ้านใหม่บนที่ดินของตัวเองได้ ถือเป็นการรีโนเวทบ้านไม้ ปรับปรุงตกแต่งใหม่ให้สวยงามไปในตัว

ข้อด้อยของบ้านไม้

แม้บ้านไม้จะมีข้อดี แต่ถ้าพูดถึงข้อเสียแล้วก็มีเช่นเดียวกัน และอาจทำให้ต้องรีโนเวทบ้านไม้เร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้

1. ปลวก มด แมลงกัดแทะ

อาจจะต้องทำใจไว้ก่อนเลย เพราะบ้านไม้เสี่ยงต่อการถูกปลวก มด แมลง มากัดเนื้อไม้ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลและบำรุงรักษาไม้เป็นพิเศษ เช่น ทาสีกันแมลง เพื่อป้องกันการผุกร่อนของเนื้อไม้

2. บ้านรั่วซึม

วัสดุไม้มีข้อดีในเรื่องของความยืดหยุ่นก็จริง แต่ก็มักจะยืดหรือหดตามสภาพอากาศ ในช่วงหน้าฝนจึงอาจเกิดปัญหาบ้านรั่วซึมระหว่างช่องไม้ได้ เช็กลิสต์บ้านรั่ว รับมือหน้าฝน ควรตรวจเช็กก่อนรีโนเวทบ้าน ป้องกันได้ด้วยการทาน้ำยากันรั่วซึม

3. ไม้ชื้น เสื่อมสภาพเร็ว

ไม้ชื้นเป็นอีกหนึ่งข้อเสียของบ้านไม้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ระเบียง หรือบันไดที่เสี่ยงโดนฝนเป็นประจำ ต้องมีการทาสีน้ำมันหรือสีพลาสติก เพื่อกันความชื้น ไม่ให้น้ำซึมลงเนื้อไม้ เสี่ยงไม้ผุพังได้ในอนาคต

4. มีเสียงดังเวลาเดิน

บ้านไม้มักมีเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดเวลาเดินในบ้าน เป็นผลจากการยืดและหดตัวของเนื้อไม้ ทำให้ได้ยินเสียงรบกวนทั้งจากนอกบ้านและในบ้าน นอกจากนั้นยังมีเสียงที่ลอดผ่านช่องรอยต่อของไม้ เพื่อลดเสียงรบกวนที่สร้างความรำคาญใจ อาจจะต้องปูวัสดุตกแต่ง เช่น กระเบื้องยาง พื้นไม้ไวนิล พรมทับพื้นไม้เดิม เพื่อปิดร่องรอยต่อระหว่างพื้นไม้

5. ราคาสูง

ปัจจุบันไม้มีราคาสูง อาจทำให้เสียงบประมาณในการสร้างบ้านเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไม้เนื้อดี เนื้อแข็ง ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน นิยมนำมาวางโครงสร้างบ้าน ก็จะมีราคาสูง อีกทั้งการสร้างบ้านไม้ต้องอาศัยช่างที่มีความชำนาญซึ่งหาได้ค่อนข้างยาก

สรุปข้อดี-ข้อเสียของบ้านไม้

ข้อดีของบ้านไม้ข้อเสียของบ้านไม้
สวยงามปลวก มด แมลงกัดแทะ
แข็งแรง ทนทานบ้านรั่วซึม
ถ่ายเทอากาศได้ดีไม้ชื้น เสื่อมสภาพเร็ว
ปรับแต่ง ต่อเติมได้มีเสียงดังเวลาเดิน
รื้อถอนง่าย เคลื่อนย้ายสะดวกมีราคาสูง

5 จุดต้องตรวจเช็ก ก่อนรีโนเวทบ้านไม้

การรีโนเวท (Renovate) คือ การบูรณะ การซ่อมแซมให้กลับมามีสภาพดีเหมือนเดิม เช่น การรีโนเวทบ้านคือการปรับปรุงบ้าน ซ่อมแซมบ้านให้กลับมามีสภาพดีหรืออาจปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ไปเลยก็ได้ โดยในการรีโนเวทบ้านไม้ มีหลายจุดที่ต้องตรวจเช็ก โดยเฉพาะ 5 จุดสำคัญเหล่านี้ เพื่อให้บ้านไม้สวยงาม ดูใหม่อยู่เสมอ และอยู่กับเราไปได้นาน ๆ

1. ประตู หน้าต่าง

การรีโนเวทบ้านไม้ ควรให้ความสำคัญบริเวณ ประตู หน้าต่าง เพราะจุดดังกล่าวมีการใช้งานบ่อย มีการเปิด-ปิด อาจเกิดความเสียหาย หรือชำรุดได้ง่ายที่สุด ยิ่งถ้าหากโดนฝนบ่อย ๆ จะเกิดการเปียกชื้น ก่อนรีโนเวทบ้านไม้ ประตู หน้าต่าง จึงเป็นจุดแรกที่ควรตรวจเช็ก

วิธีแก้ไข: หากพบว่าไม้บวมชื้น เกิดความเสียหาย ทำให้เปิด-ปิดประตู หน้าต่างได้ยาก ให้ไสไม้บริเวณที่บวมออกไป และทาสีน้ำมันทาไม้ทับอีกชั้น ถ้ามีความเสียหายมาก ให้เอาออกและเปลี่ยนแผ่นใหม่เข้าไปแทน

2. พื้น ผนังบ้าน

แม้ว่าบริเวณพื้นบ้าน ผนังบ้าน จะไม่ค่อยได้ถูกแสงแดด ลม หรือฝน แต่ก็เกิดความเสียหายได้เช่นกัน เช่น รอยขีดข่วนต่าง ๆ จากการลากเฟอร์นิเจอร์ การที่มีกรวดหรือทรายบนพื้นไม้ และการขีดข่วนจากสัตว์เลี้ยง อาจทำให้พื้นบ้านหรือแม้แต่ผนังบ้านเกิดรอยได้ แม้จะหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งถ้าใครที่หลงรักงานไม้ก็อาจจะทำใจในข้อนี้ไม่ได้จริง ๆ

วิธีแก้ไข: การรีโนเวทบ้านไม้ในจุดนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มจากตรวจเช็กความลึกและขนาดของรอยขีดข่วนก่อน หากรอยไม่ลึกมาก สามารถซ่อมได้ด้วยปาร์กเกอร์ย้อมสี รอยลึกปานกลาง ใช้แท่งขี้ผึ้งสีที่ใกล้เคียงกับพื้นไม้ของเรา รอยลึกมากซ่อมด้วยสีโป๊วไม้และปาดให้เรียบไปกับผิวหน้าพื้นไม้ หรือขัดพื้นและเคลือบผิวใหม่ ในกรณีที่มีรอยข่วนจำนวนมาก

3. ระเบียงบ้าน

โดยส่วนใหญ่แล้วระเบียงบ้านหรือชานบ้าน เป็นจุดที่เกิดความเสียหายได้บ่อย เพราะเป็นจุดที่ต้องโดนทั้งแดด ลม ฝน มากกว่าจุดอื่น ๆ อาจทำให้ไม้เกิดความเสียหาย เนื้อไม้ซีดหรือผุพังได้ เป็นอีกจุดที่ก่อนรีโนเวทบ้านไม้ต้องตรวจเช็กให้ดี

วิธีแก้ไข: ทาสีน้ำมัน หรือสีพลาสติก เพื่อเป็นการดูแลเนื้อไม้ และยังทำให้เนื้อไม้มีสีที่เด่นชัด สวยงาม

4. เนื้อไม้

การรีโนเวทบ้านไม้ ควรดูแลรักษาเนื้อไม้ให้มีความแข็งแรง ทนทาน เพื่อให้มีอายุการใข้งานที่ยาวนาน โดยควรตรวจเช็กเนื้อไม้ทุก ๆ 4 เดือน เพราะหากมีปลวกมาทำลายเนื้อไม้ จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

วิธีแก้ไข: ใช้น้ำยาเคลือบเนื้อไม้ เพื่อให้อายุไม้ยาวนาน แถมยังลดปัญหาเนื้อไม่เสียหายมากขึ้น

5. เฟอร์นิเจอร์ไม้

ด้วยความที่เป็นบ้านไม้ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้จึงเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้เพื่อให้ดูเข้ากัน และถึงแม้เฟอร์นิเจอร์ไม้เหล่านี้จะอยู่ในบ้าน ไม่ได้ออกมาโดนแดด โดนฝน แต่ก็อาจจะชำรุดเสียหายได้จากการโดนน้ำเวลาทำความสะอาดบ้าน ไม้เกิดความชื้นจากการที่น้ำซึมเข้าเนื้อไม้ รีโนเวทบ้านไม้ทั้งที จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่นำมาตกแต่งบ้านด้วย

วิธีแก้ไข: ควรเลือกใช้น้ำยาเคลือบผิวไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าเนื้อไม้ หรือถ้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นไหนเกิดความเสียหายผุพังมาก อาจจะถือโอกาสนี้เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ จะได้เข้ากับบ้านไม้หลังงามที่รีโนเวทจนสวยเหมือนใหม่

บ้านไม้มีอายุใช้งานอยู่ได้นานเป็น 100 ปีก็จริง แต่ถ้าไม่ดูแลรักษา หรือรีโนเวทบ้านไม้ ก็อาจทำให้บ้านไม้ที่เคยสวยงามนั้น เกิดความเสียหายและเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ อยากให้บ้านสวยอยู่กับเราไปได้นาน ๆ สามารถตรวจเช็กและซ่อมแซมได้ในบางจุด แต่ในบางจุดต้องอาศัยช่างที่มีความชำนาญ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ