6 วิธีเลี้ยงหมาแมว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบเพื่อนบ้าน

วิธีเลี้ยงหมาแมว ปัญหาที่พบส่วนใหญ่มีทั้งเสียง กลิ่นไม่พึงประสงค์ การขับถ่ายไม่เป็นที่ ทั้งบริเวณหน้าบ้าน หรือยางล้อรถ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ถ้าคุณ ๆ ที่เลี้ยงน้องหมาน้องแมวไม่ได้ระมัดระวัง

ในมุมของคนเลี้ยงที่รักน้องหมา น้องแมว เป็นชีวิตจิตใจ เรื่องเสียง กลิ่น หรือการขับถ่ายไม่เป็นที่ของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร และถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เลี้ยง และไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนรักหมาแมว ส่วนใหญ่ก็มองว่านี่คือปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่ด้วย แต่เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรระหว่างผู้ที่เลี้ยงกับผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์

สิ่งสำคัญคือ ความรับผิดชอบ การที่เราเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกชนิด นอกจากจะต้องรับผิดชอบเขาในทุกกรณี ทั้งการเลี้ยงดูไปจนถึงดูแลไม่ให้สัตว์เลี้ยงแสนรักไปสร้างผลกระทบกับผู้อื่น เพราะหากละเลยสัตว์เลี้ยงของเรา อาจไปสร้างผลกระทบกับเพื่อนบ้าน นอกจากจะก่อให้เกิดกระทบกระทั่งกันกับเพื่อนบ้านแล้ว อาจถูกฟ้องร้องตามกฎหมายได้ด้วย

หากสัตว์เลี้ยงก่อให้เกิดความเสียหายเจ้าของจะโดนอะไรบ้าง

มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของ สัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น

เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้

ยังไม่นับรวมกฎหมายอาญาในบางมาตราที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเอาผิดกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ เช่น

มาตรา 377 ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นอยู่ลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เลี้ยงหมาแมวต้องระวัง อย่ากระทบเพื่อนบ้าน

วิธีป้องกันน้องหมา น้องแมว รบกวนเพื่อนบ้าน

สำหรับการระมัดระวังสัตว์เลี้ยงของเราไม่ให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การดูแลให้ดี

1. ใส่ใจเพื่อนบ้าน

กรณีที่เพิ่งย้ายเข้ามาในหมู่บ้านนั้นก็ดี หรืออยู่มานานแล้ว แต่เพิ่งมีสัตว์เลี้ยง สิ่งที่ควรทำ ก็คือ การบอกกล่าวเพื่อนบ้านว่าเรามีสัตว์เลี้ยง อาจจะมีเสียงบ้าง หรือมีกลิ่นบ้างในบางครั้ง หากมีอะไรที่สร้างผลกระทบก็ต้องขออภัยไว้ก่อน หรือเปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านได้มาบอกเล่าถึงปัญหาของสัตว์เลี้ยงของเรา ซึ่งวิธีการบอกกล่าว จะช่วยลดความรู้สึกไม่พอใจที่มีต่อกันลงได้ในระดับหนึ่ง

2. เสียง

เรื่องของเสียงร้อง โดยเฉพาะเสียงเห่าของน้องหมา ในทีนี้หมายถึงการเห่าต่อเนื่อง เห่ายาวนานจนทำให้เกิดการรบกวน แต่ถ้านาน ๆ เห่าที ก็เชื่อว่าเพื่อนบ้านคงไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าเห่าต่อเนื่อง ต้องรีบเข้าไปดู หาสาเหตุว่าน้องหมาเห่าเพราะอะไร ส่วนใหญ่อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก ถ้าเป็นอย่างนั้นอาจต้องใช้ประตูทึบ

หากปัญหาเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจจะต้องหาวิธีฝึกน้องหมาไม่ให้เห่า โดยใช้วิธีการดุ หรือปราม ถ้าฝึกบ่อย ๆ น้องหมาก็จะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ดี

3. ขับถ่ายต้องไม่กวนใจ

ข้อนี้คงเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดสำหรับเพื่อนบ้านหลายคน ซึ่งเจ้าของน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ต้องดูแลไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราไปรบกวนเพื่อนบ้าน ไม่ปล่อยให้เขาไปขับถ่ายไม่เป็นที่ ไปอึ ฉี่หน้าบ้าน หรือยางล้อรถของเพื่อนบ้าน

กรณีที่ห้ามไม่ทัน ในฐานะเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้น ก็ควรจัดการเก็บ ทำความสะอาดให้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าเจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถฝึกให้เขาขับถ่ายเป็นที่ได้ ก็จะยิ่งลดปัญหาเหล่านี้ได้

4. พาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น

ควรพาสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะน้องหมาออกไปเดินเล่นออกกำลังกาย และเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะอยู่แต่ในบ้านนาน ๆ อาจทำให้เครียด และทำให้เขาเห่ามากขึ้น อย่าลืมพกถุงเก็บอึ ฉี่ ในการพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น เพื่อป้องกันไม้ให้น้องหมา น้องแมวไปขับถ่ายในที่สาธารณะหรือหน้าบ้านผู้อื่น

5. ออกจากบ้านต้องมีสายจูง

วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาที่สัตว์เลี้ยงของเราวิ่งสะเปะสะปะกระทบผู้คนที่เดินอยู่ในที่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งลดความเสี่ยงที่สัตว์เลี้ยงของเราจะไปกัดคนอื่น โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ จะยิ่งมีความอันตราย นอกจากนี้ยังป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราเป็นอันตรายอย่างโดนรถชน หรือวิ่งตกน้ำด้วย

เลี้ยงหมาแมวต้องระวัง อย่ากระทบเพื่อนบ้าน

6. ฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงแสนรัก

โรคที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงแสนรัก ผู้เลี้ยง และเพื่อนบ้านมากที่สุดก็คือ โรคพิษสุนัขบ้า หรือบางครั้งเรียกว่า โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นหมา แมว หนู หรือกระต่าย และสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้

ความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีอาการต่อระบบประสาท เช่น เส้นประสาท สมอง มีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ที่สำคัญปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษามีแต่วัคซีนป้องกันโรคเท่านั้น

ดังนั้นคุณจึงสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง โดยเจ้าของควรพาน้องหมา หรือน้องแมวไปฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 3 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งที่ 6 เดือน ถึงแม้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจะสามารถป้องกันโรคได้นานกว่า 5 ปี แต่เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นถิ่นที่มีการระบาดอยู่จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนทุกปีจึงจะปลอดภัย

ทั้งนี้ หลายคนมักเข้าใจว่า โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเฉพาะในฤดูร้อน แต่ความจริงแล้วเชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว แต่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดู จึงควรฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงทุกตัว

จะเห็นได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในบ้านจัดสรรไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องอาศัยความมีวินัยของผู้เลี้ยง และการคิดถึงหัวจิตหัวใจของผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านเดียวกัน ส่วนผู้ที่อยู่คอนโดมิเนียมจะเจอปัญหานี้น้อย เพราะคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ ห้ามเลี้ยงสัตว์ ยกเว้นจะมีคนแอบเลี้ยง แต่ปัจจุบันมีคอนโดที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้แล้วเช่นกัน

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ